ค้นหาบล็อกนี้

ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2561

การจัดการเรียนการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน ( Computer Assisted Instruction)



การจัดการเรียนการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน ( Computer Assisted Instruction)


          ทิศนา แขมมณี  ได้กล่าวว่า  
              ก. หลักการ
                  1) คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือที่สามารถนำมาขยายขอบเขตความสามารถในการเรียนรู้ของผู้เรียนช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้เร็วและเรียนรู้ได้ดีรวมทั้งช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตนเองตามความสามารถของผู้เรียน
   2) เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์สามารถนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้เรียนและผู้สอนและสามารถนำไปใช้งานทางการศึกษาด้านอื่น ๆด้วย เช่นงานการบริหารงานสอบการประเมินผลเป็นต้น
ข. นิยาม
     การจัดการเรียนการสอน โดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน หมายถึง การนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในการเรียนการสอน เพื่อช่วยขยายขอบเขตความสามารถในการเรียนรู้ของผู้เรียน และความสามารถในการสอนของครู โดยการสร้างบทเรียนคอมพิวเตอร์ขึ้นมาหรือจัfหาบทเรียนคอมพิวเตอร์ที่เหมาะสมที่มีผู้สร้างไว้แล้วมาให้ผู้เรียน หรือเขียนโปรแกรมให้ผู้เรียนและผู้สอนสามารถสร้างบทเรียนขึ้นเอง และใช้คอมพิวเตอร์ในการนำเสนอบทเรียนด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งโดยมีการนำสื่อประสมเข้ามาช่วยในการนำเสนอ เช่น ข้อความ เสียง ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว ผู้เรียนเป็นผู้ดำเนินการเรียนรู้ตามการนำเสนอของบทเรียน ซึ่งจะออกแบบไว้ให้ผู้เรียนได้รับผลย้อนกลับตามการตอบสนองของตน และเมื่อเรียนจบผู้เรียนจะได้รับการประเมินผลการเรียนรู้ของตน และทราบผลการเรียนรู้ของตน การนำเสนอบทเรียนแบบคอมพิวเตอร์มีหลายแบบที่นิยมกันก็มีแบบทบทวนความรู้ (tutorial) ซึ่งเป็นการทบทวนความรู้เดิมหรือนำเสนอเนื้อหาใหม่ การนำเสนอบทเรียนแบบฝึกปฏิบัติ ( drill and practice) เป็นลักษณะของการฝึกการทำแบบฝึกหัดและแบบทดสอบ จนสามารถเข้าใจบทเรียนนั้นๆ ได้ดี บทเรียนแบบเกม (game) สามารถช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ไปพร้อมๆกับการเล่นอย่างเพลิดเพลิน การนำเสนอบทเรียนแบบสถานการณ์จำลองผู้เรียนสามารถเข้าไปเล่นและใช้ข้อมูลที่มีในการตัดสินใจแก้ปัญหา และได้รับผลจากการตัดสินใจนั้นนั้น
ค.ตัวบ่งชี้
   1) มีบทเรียนคอมพิวเตอร์ที่ผู้สอนสร้างขึ้น หรือผู้อื่นสร้างไว้แล้ว หรือมีโปรแกรมการสร้างบทเรียนสำหรับผู้เรียนและมีเครื่องมือคอมพิวเตอร์
   2) ผู้เรียนมีความสามารถในการใช้คอมพิวเตอร์
   3) ผู้สอนมีการชี้แจงวัตถุประสงค์ เนื้อหา และวิธีการในการเรียนรู้ให้ผู้เรียนเข้าใจ และสำรวจความพร้อม และความเข้าใจของผู้เรียนก่อนให้ผู้เรียนดำเนินการ
   4) ผู้เรียนมีการดำเนินการเรียนรู้ตามที่กำหนดไว้ในบทเรียนคอมพิวเตอร์โดยผู้สอนทำหน้าที่ดูแลให้ความช่วยเหลือ อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ และให้คำปรึกษาแนะนำตามความจำเป็น
   5) เมื่อเรียนจบบทเรียนผู้เรียนได้รับการทดสอบและได้รับทราบผลการเรียนของตนเอง



นภดล ยิ่งยงสกุล ได้กล่าวว่า การจัดการเรียนรู้โดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน ( CAI )( Computer Assisted Instruction )
ความหมาย
การจัดการเรียนรู้โดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน  เป็นกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนที่อาศัยคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีระดับสูงมาประยุกต์ใช้เป็นสื่อหรือเครื่องมือสำหรับการเรียนรู้  โดยจัดเนื้อหาสาระหรือประสบการณ์สำหรับให้ผู้เรียนได้เรียนรู้  อาจจัดเป็นลักษณะบทเรียนหน่วยการเรียนหรือโปรแกรมการเรียน ฯลฯ
ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้
บุญเกื้อ  ควรหาเวช ( 2543 : 7071 )  ได้เสนอขั้นตอนการจัดการเรียนรู้โดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน  ไว้ดังนี้
1.   ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน
ขั้นตอนนี้จะเริ่มตั้งแต่การทักทายผู้เรียน  บอกวิธีการเรียนและบอกจุดประสงค์ของการเรียน  เพื่อที่จะให้ผู้เรียนได้ทราบว่าเมื่อเรียนจบบทเรียนนี้แล้วเขาจะสามารถทำอะไรได้บ้าง  คอมพิวเตอร์ช่วยสอนสามารถเสนอวิธีการในรูปแบบที่น่าสนใจได้  ไม่ว่าจะเป็นลักษณะภาพเคลื่อนไหว เสียงหรือผสมผสานหลาย ๆ อย่างเข้าด้วยกัน  เพื่อเร้าความสนใจของผู้เรียน  ให้มุ่งความสนใจเข้าสู่บทเรียน  บางโปรแกรมอาจจะมีแบบทดสอบวัดความพร้อมของผู้เรียนก่อนหรือมีรายการ ( Menu ) เพื่อให้ผู้เรียนเลือกเรียนได้ตามความสนใจ  และผู้เรียนสามารถจัดลำดับการเรียนก่อนหลังได้ด้วยตนเอง
2.   ขั้นการเสนอเนื้อหา
เมื่อผู้เรียนเลือกเรียนในเรื่องใดแล้ว  คอมพิวเตอร์ช่วยสอนก็จะเสนอเนื้อหานั้นออกมาเป็นกรอบๆ( Frame ) ในรูปแบบที่เป็น ตัวอักษร  ภาพ  เสียง  ภาพกราฟฟิกและภาพเคลื่อนไหว เพื่อเร้าความสนใจในการเรียน และสร้างความเข้าใจในความคิดรวบยอดต่าง ๆ แต่ละกรอบ หรือเสนอเนื้อหาเรียงลำดับไปทีละอย่างทีละประเด็น  โดยเริ่มจากง่ายไปหายาก  ผู้เรียนจะควบคุมความเร็วในการเรียนด้วยตนเอง  เพื่อที่จะให้ได้เรียนรู้ได้มากที่สุด  ตามความสามารถ และมีการชี้แนะหรือการจัดเนื้อหาสำหรับการช่วยเหลือผู้เรียนให้เกิดการเรียนที่ดีขึ้น
3.   ขั้นคำถามและคำตอบ
หลังจากเสนอเนื้อหาของบทเรียนไปแล้ว  เพื่อที่จะวัดผู้เรียนว่ามีความรู้ความเข้าใจเนื้อหาที่เรียนผ่านมาแล้วเพียงใดก็จะมีการทบทวนโดยการให้ทำแบบฝึกหัด  และช่วยเพิ่มพูนความรู้ความชำนาญ  เช่น  ให้ทำแบบฝึกหัดชนิดคำถาม  แบบเลือกตอบ  แบบถูกผิด  แบบจับคู่และแบบเติมคำ  เป็นต้น  ซึ่งคอมพิวเตอร์ช่วยสอนสามารถเสนอแบบฝึกหัดแก่ผู้เรียนได้น่าสนใจมากกว่าแบบทดสอบธรรมดาและผู้เรียนตอบคำถามผ่านทางแป้นพิมพ์หรือเมาท์ ( Mouse ) นอกจากนี้ คอมพิวเตอร์ช่วยสอนยังสามารถจับเวลาในการตอบคำถามของผู้เรียนได้ด้วย ถ้าผู้เรียนไม่สามารถตอบคำถามได้ในเวลาที่กำหนดไว้  คอมพิวเตอร์ช่วยสอนก็จะเสนอความช่วยเหลือให้
4.   ขั้นการตรวจคำตอบ
เมื่อระบบคอมพิวเตอร์ช่วยสอนได้รับคำตอบจากผู้เรียนแล้ว  คอมพิวเตอร์ช่วยสอนก็จะตรวจคำตอบและแจ้งผลให้ผู้เรียนได้ทราบ  การแจ้งผลอาจแจ้งเป็นแบบข้อความ  กราฟฟิกหรือเสียง  ถ้าผู้เรียนตอบถูกก็จะได้รับการเสริมแรง ( Reinforcement ) เช่น  การให้คำชมเชย  เสียงเพลง  หรือให้ภาพกราฟฟิกสวย ๆ และถ้าผู้เรียนตอบผิด คอมพิวเตอร์ช่วยสอนก็จะบอกใบ้ให้หรือให้การซ่อมเสริมเนื้อหาแล้วให้คำถามนั้นใหม่  เมื่อตอบได้ถูกต้อง จึงก้าวไปสู่หัวเรื่องใหม่ต่อไป  ซึ่งจะหมุนเวียนเป็นวงจรอยู่จนกว่าจะหมดบทเรียนในหน่วยนั้น ๆ
5.   ขั้นการปิดบทเรียน

เมื่อผู้เรียนเรียนจนจบบทเรียนแล้ว  คอมพิวเตอร์ช่วยสอนจะทำการประเมินผล  ผู้เรียนโดยการทำแบบทดสอบ  ซึ่งจุดเด่นของคอมพิวเตอร์ช่วยสอน คือ สามารถสุ่มข้อสอบออกมาจากคลังข้อสอบที่ได้สร้างไว้และเสนอให้ผู้เรียนแต่ละคนโดยไม่เหมือนกัน  จึงทำให้ผู้เรียนไม่สามารถจดจำคำตอบจากการที่ทำในครั้งแรก ๆ นั้นได้ หรือแบบไม่รู้คำตอบนั้นมาก่อนเอามาใช้ประโยชน์ เมื่อทำแบบทดสอบนั้นเสร็จแล้วผู้เรียนจะได้รับทราบคะแนนการทำแบบทดสอบของตนเองว่าผ่านตามเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้ตั้งแต่แรก อีกทั้งคอมพิวเตอร์ช่วยสอนจะบอกเวลาที่ใช้ในการเรียนในหน่วยนั้น ๆ ได้ด้วย เป็นต้น


ตัวอย่างแผนการจัดการเรียนรู้ที่นำเอาเทคนิคคอมพิวเตอร์ช่วยสอนเข้ามาช่วย


แผนการจัดการเรียนรู้
กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์        ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2                        ภาคเรียนที่ 1
หน่วยการเรียนรู้ที่ 1 เรื่อง  อัตราส่วนและร้อยละ                                     เวลา 18  ชั่วโมง
แผนที่  3  เรื่อง   สัดส่วน : การแก้โจทย์ปัญหาเกี่ยวกับสัดส่วน                    เวลา   1.00  ชั่วโมง
มาตรฐานการเรียนรู้/ตัวชี้วัด/ผลการเรียนรู้
มาตรฐานการเรียนรู้
1.1 เข้าใจถึงความหลากหลายของการแสดงจำนวนและการใช้จำนวนในชีวิตจริง
ตัวชี้วัด
1.1 ม.2/4 ใช้ความรู้เกี่ยวกับอัตราส่วน สัดส่วน และร้อยละในการแก้โจทย์
สาระสำคัญ
การเท่ากันของอัตราส่วนสองอัตราส่วน  เรียกว่า สัดส่วน
ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง
ให้นักเรียนสามารถ
1.  หาจำนวนที่แทนด้วยตัวแปรในสัดส่วนที่กำหนดให้
2.  แก้โจทย์ปัญหาเกี่ยวกับสัดส่วนได้
สาระการเรียนรู้
สัดส่วน   การแก้โจทย์ปัญหาเกี่ยวกับสัดส่วน
กระบวนการจัดการเรียนรู้
ขั้นนำ
๑. แจ้งจุดประสงค์การเรียนรู้ให้นักเรียนทราบ
๒. ครูร่วมสนทนาเกี่ยวกับบทเรียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่อง สัดส่วน
ขั้นสอน
๓. นักเรียนทำแบบทดสอบก่อนเรียน เรื่อง อัตราส่วนและร้อยละ(สัดส่วน)
๔. นักเรียนสนทนาและทบทวนความรู้เดิม เกี่ยวกับ อัตราส่วนและร้อยละ(สัดส่วน)
๕. ครูแนะนำบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI) ให้นักเรียนเข้าใจก่อนเข้าบทเรียน
๖. แนะนำขั้นตอนวิธีการใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
๗. นักเรียนเข้าบทเรียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอน โดยครูคอยช่วยเหลือและดูแลให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด
๘. นักเรียนศึกษาและทำความเข้าใจในบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน และตอบคำถามท้ายเรื่อง
ขั้นสรุป นักเรียนและครูร่วมกันอภิปราย สรุปเรื่อง สัดส่วน ว่า การเท่ากันของอัตราส่วนสองอัตราส่วน  เรียกว่า สัดส่วน และให้นักเรียนแต่ละเปรียบเทียบอัตราส่วนสองอัตราส่วนให้ชัดเจนว่าเป็นสัดส่วนกันหรือไม่


ที่มา
ทิศนา แขมมณี. (2547). ศาสตร์การสอนองค์ความรู้เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ.
              พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
นภดล ยิ่งยงสกุล.(2554).https://sornordon.wordpress.com/.[Online] เข้าถึงเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2561.
https://www.kroobannok.com/16955.[Online] เข้าถึงเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2561.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การจัดการเรียนการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน ( Computer Assisted Instruction)

การจัดการเรียนการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน ( Computer Assisted Instruction)           ทิศนา แขมมณี   ได้กล่าวว่า                 ...